
คุณสมบัติการรักษาด้วยความเย็น
การใช้ความเย็นในการรักษาเราอาจจะไม่ค่อยรู้จักกันมากนัก จะคุ้นเคยกับการใช้ความร้อนในการรักษาเสียมากกว่า แต่จริง ๆ แล้วการใช้ความเย็นในการรักษานั้นมีมานานแล้ว และอาจจะดูเป็นเรื่องปกติจนไม่คิดว่าเป็นการรักษาก็เป็นได้ เช่น การใช้น้ำแข็งประคบ เวลาปวดหัวตัวร้อน หรือในคราวที่บาดเจ็บเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นต้น
การใช้ความเย็นในการรักษาทางกายภาพบำบัด นำเอาความรู้ดั้งเดิมนี้มาพัฒนาหาความรู้เพิ่มเติม ผลิตเครื่องเครื่องมือที่สามารถให้ความเย็นได้อย่างสม่ำเสมอและได้อย่างต่อเนื่องยาวนานขึ้น เพื่อความสะดวกและปลอดภัยในการใช้ให้มากยิ่งขึ้น ตามตัวอย่างที่อยู่ด้านล่างนี้
- ถุงน้ำแข็ง (Ice Pack)
- แผ่นประคบความเย็น (Cold Pack)
- การนวดด้วยก้อนน้ำแข็ง (Ice Massage)
- ผ้าขนหนูชุบเกล็ดน้ำแข็ง (Ice Towel)
- การแช่นํ้าเย็นปนน้ำ (cold water immersion)
- การประคบเย็น (Cryo cuff)
- การแช่ในน้ำร้อนสลับน้ำเย็น (Contrast Bath)
- ใช้สเปรย์เย็น (Vapocoolant Sprays)
คุณสมบัติของการรักษาด้วยความเย็น

คุณสมบัติของความเย็นว่าสามารถทำให้หลอดเลือดหดตัวได้ในช่วงหนึ่งและขยายตัวได้ในอีกช่วงหนึ่ง เราจึงสามารถใช้ในการควบคุมการไหลเวียนโลหิตของร่างกายคนเราได้ เมื่อเราต้องการจะให้หลอดเลือดหดตัวเมื่อไรก็ประคบความเย็นเข้าไปได้ทันที และยังช่วยลดการอักเสบต่าง ๆ ลดบวมและลดปวดได้เป็นอย่างดี ซึ่งก็เป็นผลต่อเนื่องมาจากการไหลเวียนโลหิตดังกล่าวด้วย และยังช่วยลดจำนวนเซลล์ที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบลงและลดการเผาผลาญอาหารด้วย กล้ามเนื้อที่เราจะได้ประโยชน์ก็คือ สามารถลดอาการแข็งเกร็งของกล้ามเนื้อได้ ให้กล้ามเนื้อได้พักผ่อน จะนำไปใช้ในผู้ป่วยอัมพาตที่มีกล้ามเนื้อแข็งแกร่งได้
การรักษาด้วยความเย็นควรเกิดขึ้นเมื่อไหร่

การนำความเย็นไปใช้ในการรักษาจะใช้ทันทีหลังจากเกิดอาการขึ้นภายใน 1 -2 วันแรกเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยอุบัติเหตุ มีการบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อหรือข้อต่อต่าง ๆ จะเป็นการปฐมพยาบาลเพื่อไม่ให้เกิดอาการมากขึ้นจนเกินสมควร เช่น ข้อเคล็ด ข้อแพลง จะมีการฉีดขาดของเนื้อเยื่อ จะต้องมีเลือดออกมากและมีการบวมตามมา อาการเจ็บปวดจะยิ่งเพิ่มขึ้น การรักษาอย่างทันทีจะช่วยลดการอักเสบได้ หลอดเลือดจะหดตัวเล็กลงทำให้เลือดออกน้อยลง อาการบวมจะไม่มาก ความเจ็บปวดจะไม่มากตามไปด้วย การฟื้นตัวในช่วงต่อไปจะทำได้อย่างรวดเร็ว ลดการสูญเสียลงไปได้มากทีเดียว
แต่เวลาในการรักษาแต่ละครั้งจะไม่เท่ากัน เพราะต้องขึ้นอยู่กับแต่ละโรคและสภาพการบาดเจ็บ โดยใช้เวลาโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 5 – 20 นาที 2 – 3 ครั้งต่อวัน ที่สำคัญเราควรปรึกษานักกายภาพบำบัดที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ จะสามารถวิเคราะห์ปัญหาและให้การรักษาที่เหมาะสมด้วยเครื่องมือที่เหมาะสมต่อไป
การรักษาด้วยความเย็นสามารถใช้กับร่างกายได้ทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นซอกเล็กซอกน้อยตามนิ้วมือนิ้วเท้า หรือบริเวณกว้างใหญ่ เช่น แผ่นหลัง ใช้ได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ผู้ป่วยจะรู้สึกสบายขึ้น แต่ควรจะขอคำแนะนำจากแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดเพื่อเราจะได้รับประโยชน์สูงสุดนั้นเอง
อ่านบทความที่น่าสนใจ ชีวิตสุขสันต์